ตรวจ 'มะเร็งผิวหนัง' ด้วยกล้องมือถือ
ผลงานร่วมงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับบริษัท เซอร์ทิส จำกัด (Sertis) พัฒนาแอพพลิเคชั่น “คิวทิส ดอทเอไอ (Cutis.AI)” คัดกรองมะเร็งผิวหนังด้วยภาพถ่าย ไมโครสโคป จากสมาร์ทโฟน สำหรับพื้นที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ช่วยให้เข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที แล้วมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องมือตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังของแพทย์ แต่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงเหมาะกับการใช้งานของแพทย์ทั่วประเทศเพื่อตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ห่างไกลจากตัวเมือง
แอพพลิเคชั่น Cutis.AI
คิวทิส ดอทเอไอ (Cutis.AI) แอพพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ (AI) บนมือถือสมาร์ทโฟน ที่สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังจากการถ่ายภาพผ่าน กล้องไมโครสโคป บนสมาร์ทโฟน เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชนทั่วไปที่สามารถตรวจโรคผิวหนังได้ด้วยตัวเอง เนื่องด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนังมีอยู่จำกัดและกระจุกอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ในด้านนี้ และอาจส่งผลต่อการรักษาโรคที่เป็นอันตรายโดยเฉพาะโรคมะเร็งผิวหนัง
ตรวจสุขภาพผิว ด้วยกล้องสมาร์ทโฟน
“คิวทิส ดอทเอไอ” แอพพลิเคชั่นคัดกรองมะเร็งผิวหนัง พัฒนาประยุกต์จากรูปแบบการตรวจวินิจฉัยเดิมที่แพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังจะใช้การส่องกล้องดูรอยโรคผิวหนัง เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคผิวหนังหรือไม่และเป็นโรคผิวหนังประเภทใด รศ.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต และทีมงานจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงเดินหน้าพัฒนาตัวช่วยให้สามารถคัดกรองโรคร้ายได้ง่ายขึ้นผ่านโทรศัพท์มือถือ
กล้อง Dermoscopy เครื่องมือตรวจผิวหนัง
กล้องตรวจทางผิวหนัง หรือ Dermoscopy ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางที่มีทักษะและประสบการณ์ในส่องกล้องวิเคราะห์เพื่อดูรูปแบบของรอยโรค จากนั้นต้องติดตามการขยายตัวของรอยโรคเพื่อวินิจฉัยและรักษา การจะเข้าถึงบริการทางการแพทย์นี้ ประชาชนต้องมาใช้บริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลศูนย์เพียงอย่างเดียว จึงทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์มีจำกัดทั้งด้านบุคคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ทีมีจำกัด
ปัญญาประดิษฐ์(AI) & วินิจฉัยโรค
นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นใช้วิธีการเรียนรู้เชิงลึกของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เก็บข้อมูลภาพถ่ายรอยโรคผิวหนัง สร้างฐานข้อมูลการจำแนกโรค มาผสานกับการใช้กล้องจุลทรรศน์สมาร์ทโฟน ที่ร่วมมือกับทีมงานพัฒนาจุฬาฯสมาร์ทเลนส์ โดยจำลองการทำงานของกล้องจุลทรรศน์ที่แพทย์ผิวหนังใช้ส่องดูรอยโรคมาวิเคราะห์แยกแยะโรคผิวหนัง ทำให้สามารถตรวจดูได้ทุกที่ ทดแทนการเข้าไปตรวจยังโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง
แอพ “คิวทิส ดอทเอไอ” ตรวจสภาพผิว
เมื่อมีการถ่ายภาพรอยโรคผิวหนังและอัพโหลดรูปเข้าไปในแอพฯ “คิวทิส ดอทเอไอ(Cutis.AI)” ระบบจะส่งข้อมูลไปที่เซิร์ฟเวอร์ โดยที่ปัญญาประดิษฐ์(AI) ประมวลผลเทียบเคียงฐานข้อมูลในระบบและแจ้งกลับมาแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจคัดกรองและจำแนกภาพถ่ายรอยโรคออกเป็นอัตราเสี่ยงโรคผิวหนัง 3 ประเภทใหญ่คือ กระเนื้อ ไฝหรือปานและโรคมะเร็งผิวหนังทั้ง 3ชนิด ไม่ว่าจะเป็น เมลาโนมา เบซาลเซลล์และสะความัส โดยจะแสดงผลเป็นค่าเปอร์เซ็นความเสี่ยง
แอพ Cutis.AI แม่นยำสูง
โรคมะเร็งผิวหนัง มักพบได้ในไทยอยู่ที่ราว 50 รายต่อปี แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก แต่อันตรายมาก ในขณะเดียวกัน การตรวจคัดกรองล่วงหน้าช่วยให้การรักษาได้ทันท่วงทีจึงมีประโยชน์เชิงป้องกันเป็นอย่างมาก มีโอกาสนำไปใช้ขยายผลเชิงพาณิชย์ตรวจหาโรคในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือเอ็กซแพทที่เข้ามาทำงานในไทย เพราะนิยมอาบแดดและท่องเที่ยวทะเลไทย จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังสูง ปัจจุบันมีการทดสอบใช้แอพคิวทิสดอทเอไอ ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน พบว่ามีความแม่นยำอยู่ที่ 70% ใกล้เคียงกับการตรวจคัดกรองด้วยแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง
โรคผิวหนังป้องกันได้
ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น Cutis.AI ปัญญาประดิษฐ์คัดกรองมะเร็งผิวหนังนี้สามารถตอบโจทย์บุคลากรทางการแพทย์ผิวหนัง ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่ทำได้แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ในขณะเดียวกันก็เตรียมพัฒนาเวอร์ชั่นที่ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจหาความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง เป็นการแพทย์แบบป้องกัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบ ป้องกันล่วงหน้าและหากพบความเสี่ยงก็จะช่วยให้รับการรักษาได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยงการลุกลามของโรค
รางวัลเหรียญทอง จาก ฝรั่งเศส
ปัญญาประดิษฐ์ Cutis.AI รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้รับรางวัลเหรียญทองและรางวัล Special Prize จาก Federation Francaise Des Inventeurs ประเทศฝรั่งเศส จากเวทีประกวดระดับโลกในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 46 นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา รศ.จาตุรงค์ยังมีผลงานนวัตกรรมตรวจดวงตาเพื่อป้องกันตาบอดในผู้สูงอายุ และจากโรคเบาหวานขึ้นตาด้วยโปรแกรมมือถือ ที่ชื่อว่า DeepEye Application ซึ่งได้รับรางวัลจากเจนีวาเช่นกัน
Cr.กรุงเทพธุรกิจ,Mthai,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น